ดูแลลูกหลานอย่างไร จากข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

ดูแลลูกหลานอย่างไร จากข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

ดูแลลูกหลานอย่างไร จากข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

จากภาพข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่ออารมณ์จิตใจโดยเฉพาะความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือไกลตัว การทำ ความเข้าใจและพร้อมรับมือกับการรับรู้เหตุการณ์หรือภาพข่าวเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น โดยเฉพาะการดูแลเด็กในครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นการช่วยปกป้องและส่งเสริมความรู้สึกมั่นคงทางใจของเด็ก

เริ่มต้นที่ตัวผู้ปกครองเอง

สังเกตและจัดการอารมณ์ตนเอง ว่าภาพข่าวนั้นส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไร เช่น กลัว กังวล เศร้า หดหู่ โกรธแค้น ฯลฯ ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากความรู้สึกเหล่านี้ รบกวนและส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน ฯลฯ ควรดูแลจัดการอารมณ์ตนเองให้สงบและผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการดูคลิปหรือภาพเหตุการณ์รุนแรง งดการอ่านความคิดเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกร่วมหรือความเครียด

หากิจกรรมที่ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย สบายใจ อาจเป็นกิจกรรมที่ชอบและทำอยู่แล้ว หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ที่อยากทำ

อย่าลืมว่า ความเครียด ความกังวล และการแสดงออกของท่าน เช่น ท่าทีที่กังวลหรือตระหนกจนเกินไป การพูดถึงรายละเอียดของเหตุการณ์บ่อยๆ การวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรง ล้วนแต่มีผลต่ออารมณ์จิตใจของสมาชิกในครอบครัว

ดูแลลูกหลานอย่างไร จากข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

สื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย

เด็กเล็กหากพบว่าเด็กสนใจต่อเหตุการณ์ ควรพูดคุยถึงเหตุการณ์ด้วยน้ำเสียงสงบ ใช้คำที่เข้าใจง่าย ไม่ลงรายละเอียดของเหตุการณ์ ถามความรู้สึกของเด็ก ยืนยันให้เด็กมั่นใจว่าตนเองปลอดภัยและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการช่วยเหลือ รวมทั้งให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามปกติ และมีกิจกรรมผ่อนคลายตามวัย

พูดประโยคสั้น ๆ เข้าใจง่ายที่เป็นบวก เช่น “ตอนนี้ที่ตรงนั้นปลอดภัยแล้วจ้ะ พี่ ๆ ตำรวจดูแลเรียบร้อยแล้ว” “แม่อยู่กับหนูตรงนี้แล้วนะเรากอดกันกอดกัน”

เด็กโตและวัยรุ่น : เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดคุยถึงเหตุการณ์และความรู้สึก สอบถามความรับรู้และความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรับฟังอย่างใส่ใจ ตอบคำถามที่เด็กยังสงสัย และให้ความมั่นใจว่าเด็กรู้สึกปลอดภัย ชี้ชวนให้เด็กเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือ มากกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ในเด็กโตและเด็กวัยรุ่นอาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์แต่ต้องไม่ลืมให้เด็กได้มีมุมมองจากเหตุการณ์รอบด้านเพื่อไม่เพิ่มความทรงจำเลวร้ายและเรียนรู้ที่จะมองเหตุการณ์หนึ่งในหลาย ๆ มุมมอง เช่น ตำรวจ/หน่วยรักษาความปลอดภัยมีสติในการจัดการเหตุการณ์ ลูกจะทำอย่างไรหากอยู่ในเหตุการณ์การรับมือโดยมีสติ ฯลฯ

ดูแลลูกหลานอย่างไร จากข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

สังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม

เด็กเล็กที่ร้องไห้งอแงง่าย เรียกร้องความสนใจกว่าเดิม แยกตัว ไม่อยากไปโรงเรียน นอนไม่หลับ ฝันร้าย หวาดผวา กลัวการแยกจาก

เด็กโตและวัยรุ่นที่มีท่าทีหงุดหงิด ซึมเศร้า วิตกกังวล หลาดกลัว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ไป เช่น ขาดสมาธิ ก้าวร้าว ปัญหาการกินการนอนที่เปลี่ยนไปจากเดิม เก็บตัวหรือหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือไม่

 

นางสาวจันทร์ชนก โยธินชัชวาล

นางสาวจันทร์ชนก โยธินชัชวาล
นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ
หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

 

ทุกเหตุการณ์ความรุนแรงแม้จะส่งผลต่ออารมณ์จิตใจ

แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะดูแลอารมณ์จิตใจของเราได้

หากพบความเครียดและต้องการปรึกษา สามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323

 

สายด่วนสุขภาพจิต 1323