ลูกเอาแต่ใจ รับมือได้ด้วย 8 กลเม็ดเด็ดรับมือเด็กเอาแต่ใจ
“ลูกเอาแต่ใจ” อาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งในช่วงแรกอาจเกิดจากช่วงอายุอย่างวัย 2 ขวบที่ถือเป็นช่วง ‘Terrible Two’ แต่ถ้าลูกเลยวัยช่วงนั้นมาแล้ว อาการเอาแต่ใจยังไม่หายไป ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้แก่คุณแพ่อคุณแม่ไม่น้อย วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับการที่ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ รวมไปถึงวิธีการแก้กันดีกว่า
การที่เด็กต้องการความรัก ความสนใจจากพ่อแม่นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่เกิดต้องการความสนใจมากเป็นพิเศษจนเรียกว่า เด็กเอาแต่ใจ อยากให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง จะทำอย่างไรกันดี
ลูกเอาแต่ใจ รับมือได้ด้วย 8 กลเม็ดเด็ดรับมือเด็กเอาแต่ใจ
- พยายามค้นหาว่าลูกมีเหตุผลอะไรที่ทำเช่นนั้น เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจจากคุณเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องอะไรก็ตามที นั่นอาจเป็นเพราะลูกน้อยรู้สึกสูญเสียคุณไปในวันที่คุณแสนจะยุ่งวุ่นวายกับหน้าที่การงาน หรืออาจเป็นเพราะเขาอิจฉาน้องที่เล็กกว่า ในฐานะที่คุณเป็นพ่อเป็นแม่ คุณไม่ควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้ เพราะเมื่อลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความสนใจมากพอ ทำให้เขาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ความสนใจจากพ่อแม่นั่นเอง ซึ่งก็ทำให้เด็กถูกมองว่าเป็นเด็กเอาแต่ใจ
- มองหาตัวกระตุ้นพฤติกรรมเอาแต่ใจ สืบเนื่องมาจากข้อแรก เมื่อรู้เหตุผลแล้ว ก็ลองมาดูว่าเมื่อไรที่ลูกจะแสดงอาการเอาแต่ใจ มีอะไรเป็นตัวกระตุ้น เช่น พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ อาจเกิดขึ้นทุกครั้งที่คุณคุยโทรศัพท์กับใครก็ตามที หรือเมื่อคุณให้ความสนใจกับเด็กคนอื่น หรือเมื่อลูกไม่ได้รับของที่ต้องการ ลองสังเกตตัวกระตุ้นพฤติกรรม เมื่อรู้แล้ว ทีนี้ก็จะจัดการกับลูกได้ง่ายขึ้น
- อย่าลืมคำนึงถึงอายุของลูก เมื่อลูกเอาแต่ใจ อาละวาด งอแงร้องไห้แทบบ้านแตก คุณอาจอดไม่ได้ที่จะพูดว่า “ทำไมหนูทำแบบนี้ล่ะ” แต่ความเป็นจริงแล้ว จำไว้ในใจให้ดีเลยค่ะว่า สำหรับเด็กวัยเตาะแตะหรือเด็กก่อนวัยเรียน พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจอย่างมากนี้เป็นเรื่องปกติ แม้จะทำให้คุณปวดหัวมากก็ตาม
- พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่ลูกทำ คุณไม่ควรละเลยพฤติกรรมการเอาแต่ใจของลูก แต่ตรงกันข้ามพ่อแม่ควรจะต้องบอกลูก ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่สมควร
- อย่าทำให้เรื่องเลวร้ายลงด้วยพฤติกรรมด้านลบ นึกไว้เสมอว่าสำหรับเด็กแล้ว การเรียกร้องความสนใจก็คือการเรียกร้องความสนใจ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม ซึ่งมันก็ง่ายมากที่ที่พ่อแม่จะติดกับดักนี้ ด้วยการทำให้เรื่องเลวร้ายลงโดยการทะเลาะต่อล้อต่อเถียงกับลูก หรือโต้ตอบด้วยพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น ถ้าสิ่งที่ลูกทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเดือดร้อนมากมาย ทางที่ดีที่สุดควรพยายามทำเป็นเฉย ๆ ไม่สนใจ ถ้าคุณจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างกับพฤติกรรมดังกล่าว ให้พูดให้กระชับ สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามใจเย็นเข้าไว้ และเดินหนีออกมา
- อย่ามัวโทษตัวเอง ความเป็นพ่อเป็นแม่กับความรู้สึกผิดต่อลูกมักจะมาคู่กัน บางทีพ่อแม่ก็รู้สึกผิดต่อลูกแทบทุกเรื่อง เมื่อเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้น รวมไปถึงการไม่มีเวลาให้ลูกเพียงพอที่จะเลี้ยงดูให้เขาเป็นเด็กที่ว่าง่ายไม่เอาแต่ใจ แต่โชคไม่ดีที่เด็กๆ มักจะจับความรู้สึกนี้ของพ่อแม่ได้ ถ้าลูกขี้เอาแต่ใจของคุณกำลังล้อเล่นกับความรู้สึกนี้ จงอย่าแสดงออกว่าลูกกำลังจี้จุดนี้ของพ่อแม่อยู่ เพราะมันจะทำให้คุณยิ่งรู้สึกผิด และลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมแพ้ให้พฤติกรรมเอาแต่ใจของเขา
- ลองให้ความสนใจลูกมากขึ้นในด้านบวก ลองสุ่มแสดงความสนใจต่อลูกในแง่บวกให้มากขึ้น เช่น ซื้อของที่ลูกอยากได้ พาลูกไปเดินเล่น พูดชมเชยลูก ก็จะช่วยลดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้ การตามใจลูกในเรื่องด้านบวกเมื่อลูกร้องขอก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากเขาได้รับเมื่อไม่ได้ร้องขอ เขาก็จะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่สนใจเขาอยู่แล้วเป็นปกติ โดยไม่ต้องทำตัวเอาแต่ใจ
- จำกัดขอบเขตพฤติกรรม พฤติกรรมเอาแต่ใจบางอย่างเป็นพฤติกรรมที่น่ารำคาญ แต่บางอย่างก็ถึงขั้นที่รับไม่ได้เลย ถ้าลูกขี้เอาแต่ใจของคุณต้องการเป็นความสนใจหนึ่งเดียวเท่านั้นของบ้าน คุณก็ควรจะจำกัดขอบเขตที่ชัดเจน ด้วยการใช้สัญญาณทางกาย เช่นสายตา มือ สำหรับเด็กโตก็อาจจะต้องใช้การตั้งกฎเกณฑ์ หากผิดกฎจะต้องมีมาตราการลงโทษ เป็นต้น
ที่มา : https://th.theasianparent.com