โรคซึมเศร้า รับมือได้ และคำแนะนำสำหรับคนใกล้ชิด

"โรคซึมเศร้า"  รับมือได้

คุณมีอาการของ โรคซึมเศร้า หรือไม่

  •   • รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ

  •   • ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต

  •   • น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป

  •   • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ

  •   • รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

  •   • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง

  •   • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง

  •   • กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ

  •   • คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งสามารถติดต่อสายด่วน 1323 เพื่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ เพือรับคำแนะนำในการดูแลตนเองเพิ่มเติม

 


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า"

ในระหว่างนี้คุณควรจะ

  •   • อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน

  •   • อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ

  •   • พยายามย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก เลือกทำที่สำคัญกว่าก่อน แล้วทำให้เต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้

  •   • อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือ คุณกำลังสร้างความล้มเหลว

  •   • ร่วมกิจกรรมที่คุณอาจเพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด ถ้ามันไม่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจใช้เวลาบ้าง

  •   • อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดีและ มีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยของคุณจะดีขึ้น

  •   • อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแบบ “ลัดนิ้วมือเดียว” เพราะเป็นไปได้ยาก จงพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่โทษตนเองว่า ที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ

  •   • พึงระลึกว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นสวนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น

 


คำแนะนำสำหรับคนใกล้ชิดผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า"

ในระหว่างนี้คุณควรจะ

  •   • รับฟังและช่วยเหลือผู้ป่วย

  •  • ดูแลให้ได้กิน นอน เป็นเวลา

  •  • ดูแลตัวเองไม่ให้เครียดไปอีกคน

  •  • หากผู้ป่วยทำร้ายตัวเอง หรือ ไม่อยากมีชีวิต ควรดูแลอย่างใกล้ชิด


ที่มา : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล