สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น

สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น

 

สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น

สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น : วัยรุ่นที่คิดฆ่าตัวตาย มักจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้านำมาก่อน อาการอาจมีน้อย เช่น เริ่มต้นจาก อารมณ์เบื่อ ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่ค่อยสนใจหรืออยากจะทำ แม้แต่กิจกรรมที่เคยชอบทำหรือเคยเพลิดเพลิน  หรือ เบื่อการเรียน เบื่อคนรอบข้าง เบื่อโลก เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่อยากพูดคุยกับใคร ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิดง่าย กังวลง่าย ท้อแท้ง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงเร็ว นอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่นๆ หรือตื่นดึกๆ แล้วนอนหลับต่อไปไม่ได้ สมาธิความจำเสียไป การเคลื่อนไหวช้าลง ทำงานหรือเรียนได้ช้าจนเสียงาน รู้สึกตนเองผิด ไม่มีประโยชน์ ไร้ค่า เบื่อชีวิต และคิดอยากตาย อาการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วในเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการที่ร้ายแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ดังนั้นเราสามารถสัเกตุพฤติกรรมของคนรอบข้าง หรือ ตัวเราเองได้ ว่ากำลังคิดที่จะฆ่าตัวตายด้วยพฤติกรรมเหล่านี้

พฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย

- พูดเรื่องชีวิตหรือความตายบ่อยๆ เช่น พูดว่า "อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์" "ชีวิตไร้ค่า" "ตายไปซะก็ดี"

- เตรียมอุปกรณ์ที่อาจใช้สำหรับการฆ่าตัวตาย เช่น อาวุธหรือยา

- แยกตัวจากสังคมหรือต้องการอยู่คนเดียวตลอดเวลา

- อารมณ์แปรปรวน เช่น อารมณ์ดีมากวันหนึ่งและเศร้ามากในอีกวันหนึ่ง

- หมกมุ่นเกี่ยวกับความตาย หรือ ความรุนแรง เช่น ดูเว็บไซต์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

- รู้สึกสิ้นหวังกับสถาณการณ์ที่เกิดขึ้น

- ใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพิ่มมากขึ้น

- กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป รวมถึงการกินและวงจรการนอน

- มีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสวัดิภาพของตนเอง เช่น ขับรถเร็ว

- ร่ำลาคนรอบตัวคล้ายกับว่าจะไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก

- แจกจ่ายสิ่งของหรือมอบหมายภาระไว้กับคนอื่นโดยไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น

- บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น กระสับกระส่ายผิดปกติ

ใครต่างก็ทราบกันดีว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหา ทว่าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางครั้งด้วยอาการ “ป่วย” ก็ผลักดันให้เขามีแนวโน้มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูง ดังนั้นคนข้างกายจึงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สถานการณ์คิดสั้นเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้

ที่มา : คู่มือปฏิบัติการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษา ตามแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า)