จะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตดี

จะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตดี

การจะเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีมีหลายประการ เช่น เด็กโตจากตัวของเขาเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กจะมีสุขภาพจิตดีได้นั้นก็ต้องขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเด็กคือ พ่อแม่ และครู (โรงเรียน)

ประการแรก คือ พ่อแม่ต้องมีสุขภาพจิตดีด้วย มีความสุข มีความรื่นเริง มีความเป็นอยู่สมกับเศรษฐฐานะ และมีความรักความผูกพันในครอบครัว

ประการที่สอง คือ ครู เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านที่สองของเด็ก เพราะฉะนั้นครูจึงเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ครูจะต้องเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีด้วย การเรียนการสอนต้องเหมาะสมกับวัย ส่วนการเรียนการสอนที่มากจนเกินไป เช่น วัยอนุบาลก็สอนกันอย่างเข้มข้นมากมายเกินกว่าวัย จะทำให้เด็กมีสุขภาพจิตไม่ดีได้

วัยเด็กเป็นวัยที่มีพัฒนาการหลายๆด้าน ไม่ใช่พัฒนาด้านสติปัญญาอย่างเดียว ควรจะมีการพัฒนาการด้านอารมณ์ บุคลิกภาพ และร่างกาย เพราะฉะนั้นเด็กควรจะมีการออกกำลังกาย มีการเล่นอะไรต่างๆ ไม่ใช่เรียนเพราะอยากจะรู้ว่าในหนังสือมีอะไรเท่านั้น สิ่งที่เด็กอยากเรียนรู้และมีสุขภาพจิตดีในวันข้างหน้า คือการเรียนรู้ชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมของพ่อแม่ชีวิตในบ้านทำอะไร


พ่อแม่ควรทำอย่างไรให้ลูกมีสุขภาพจิตดี 

1. ควรจะเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ความรู้หรือทางด้านวิชาการเด็กวัยนี้มีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้ดูแลเขาให้ถูกต้องตามวัย เช่น วัยรุ่นเขามีท่าทีที่จะเป็นตัวของเขาเอง อยากมีอิสระ อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย การดูแลจะทำเหมือนเด็กไม่ได้ อย่างวัยอนุบาล เป็นวัยที่ยังไม่พร้อมที่จะเรียนมากมาย พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าวัยนี้เป็นวัยที่เตรียมตัวเข้าเรียน ไม่ใช่อัดอะไรให้ทุกอย่าง

2. ตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างถูกต้อง ความต้องการของเด็กมี 2 อย่างคือ ความต้องการทางร่างกายและจิตใจ พ่อแม่ต้องตอบสนองความต้องการทางกายให้ได้ด้วย เช่น มีการออกกำลังกาย เรื่องอาหาร การตอบสนองความต้องการทางใจ เช่น ให้ความรัก ความผูกพัน ให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นคง สามารถทำให้เขาปลอดภัยได้ การตอบสนองที่ถูกต้อง พ่อแม่ต้องไม่ใช้ตัวเองเป็นมาตรฐานหรือเป็นศูนย์กลาง เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่จะใช้ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางตัดสินว่านี่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง จริงๆแล้วต้องใช้เด็กเป็นเกณฑ์ เพราะเด็กแต่ละวัยมีความต้องการต่างๆกัน ถ้าพ่อแม่ใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์ เป็นความต้องการของพ่อแม่มากกว่าเป็นความต้องการเด็ก ปัจจุบันจึงขัดกัน เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนดนตรี เรียนคอมพิวเตอร์ ทั้งๆที่ความต้องการของเด็กอยากเล่น อยากมีเพื่อน อยากได้ระบายความรู้สึก

3. กระตุ้นให้เหมาะสมกับวัย เพราะมีความสำคัญมาก พบว่าเซลล์สมองของเด็กถ้าได้รับการกระตุ้นตามสมควรและเหมาะสมกับวัยจะทำให้เซลล์สมองพัฒนาไปได้ การกระตุ้นเด็กให้เด็กได้เรียนรู้ให้เด็กได้สัมผัส ให้เด็กมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ ทำให้เด็กได้มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาได้ดี

4. เลี้ยงให้เป็นตัวของตัวเอง ให้เด็กสามารถปรับตัวได้ เวลามีความตึงเครียด หรือมีอะไรต่างๆ ต้องปรับตัวได้ ไม่ใช่คอยปกป้องตลอดเวลา เพราะเมื่อสิ้นพ่อแม่ไปแล้วลูกจะช่วยตัวเองไม่ได้ เด็กบางคนมาเรียนหนังสือแต่งตัวยังไม่เป็นเลย เพราะอยู่บ้านมีคนทำให้ตลอด

5. มีทัศนคติสายกลาง เช่น รักก็รักอย่างกลางๆ อย่ารักให้มากเกินไป บางคนรักและทะนุถนอมเลี้ยงลูกอย่างไข่ในหิน ต่อไปข้างหน้าเด็กจะขาดทักษะในการปรับตัว เวลาพ่อแม่ปกป้องและเมื่อไม่มีพ่อแม่ปกป้องจะลำบาก ทำอะไรไม่ได้ ไม่กล้าตัดสินใจอะไร

6. ตามใจมากเกินไป ถ้าตามใจมากเกินไปเด็กก็จะใช้ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางอยู่เสมอ เด็กพวกนี้เวลาโตขึ้นสุขภาพจิตไม่ดี เข้ากับเพื่อนไม่ได้

7. เลี้ยงอย่างวิตกกังวล พ่อแม่มักจะคอยย้ำถาม ย้ำปฏิบัติ ลูกไม่อยากได้พ่อแม่ก็ถามอยู่เรื่อย เด็กที่พ่อแม่เลี้ยงอย่างวิตกกังวลจะกลายเป็นคนหงุดหงิด ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนวิตกกังวลไปด้วย

8. เลี้ยงอย่างเจ้าระเบียบมากเกินไป ทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อแม่เลย เพราะพ่อแม่เป็นคนจู้จี้จุกจิก เวลาโตขึ้นมาจะมีความรู้สึกว่าตัวเองค่อนข้างจะต่ำต้อย ไม่มั่นใจ ปรับตัวยาก ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าตัดสินใจ และรู้สึกว่าด้อยกว่าเขา

9. ปฏิเสธและไม่รักลูก เช่น ลูกที่เกิดมาจากพ่อแม่ที่อายุน้อย ไม่ได้หวังว่าจะให้เกิดมาหรือไปดูดวงมาว่าถ้าเกิดในช่วงนี้จะทำให้บ้านล่มจม พวกนี้จะเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องการ พ่อแม่จะลงโทษและแสดงความจงเกลียดจงชัง ทำให้ความรู้สึกผูกพันและความรักพื้นฐานไม่เกิดขึ้น โตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ต่อต้านสังคม ก้าวร้าวรุนแรง


วัยรุ่นควรดูแลตัวเองอย่างไร

จริงๆแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ วัยรุ่นมักจะปรับตัวได้เร็ว และดูแลตัวเองนั้นควรเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เป็นตามธรรมชาติ เป็นของปกติ เด็กก็จะไม่เกิดความวิตกกังวล

วัยรุ่นควรจะเข้าใจจิตใจของตัวเองด้วยว่า ขณะนี้มีอารมณ์ผันแปรง่าย หงุดหงิดง่าย และมีพลังในตัวมากมาย อยากเรียนรู้ เพราะฉะนั้นในแง่ของอารมณ์ที่ผันแปรง่ายและมีความรู้สึกต่อต้านผู้ใหญ่ ถ้าวัยรุ่นเข้าใจตรงจุดนี้ความรู้สึกต่อต้านในผู้ใหญ่จะลดลง

วัยรุ่นไม่ต้องไปทำอะไรกับตัวเองมาก ที่สำคัญคือคนรอบข้างอย่ายุ่งกับเขามาก เขาสามารถปรับตัวเองได้

การคบเพื่อนของวัยรุ่นควรเลือกคบเพื่อนที่ชักจูงไปในทางที่ดี เพราะตัวเองเริ่มโตแล้วอย่ายึดหลักพวกมากลากไป

ช่วงนี้เป็นวัยที่มีสติปัญญามากมาย เป็นวัยที่เหมาะที่จะใฝ่หาความรู้ การออกกำลังกายมีความสำคัญและปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเพื่อน อย่าพยายามแยกตัวอยู่คนเดียว มีส่วนทำให้วัยรุ่นพ้นจากการเกิดปัญหาสุขภาพจิต และเวลามีปัญหาวัยรุ่นควรจะหาเพื่อนสนิทที่จะระบายความรู้สึก หรือปรึกษาครูแนะแนว

สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อปัญหาทางจิตใจประการสำคัญคือ เรื่องของสภาพครอบครัว ต้องเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กันดีในครอบครัวและโรงเรียน สื่อมวลชน สิ่งแวดล้อมทางมนุษย์

ปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ของเด็กและวัยรุ่นเป็นปัญหาของการปรับตัว มีสิ่งกระตุ้นหรือมีความเครียดก็มีการปรับตัว แต่การปรับตัวอาจจะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น แสดงออกมาในรูปของอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย และแสดงออกมาทางพฤติกรรม เช่น ทำลายสิ่งของ

การทอดทิ้งลูกของพ่อแม่จะทำให้เด็กมีความรู้สึกกลัวโรงเรียน ในเด็กเล็กๆ กลัวโรงเรียนหมายความว่าเด็กมีความกังวลกับการที่จะพลัดพรากจากแม่ไป สืบเนื่องมาจากพ่อแม่เองก็มีความกังวลต่อการพลัดพรากจากลูกด้วย ทำให้เป็นสาเหตุของสุขภาพจิตไม่ปกติได้


ที่มา : https://www.doctor.or.th/article/detail/5400