หลักการในการส่งเสริมพัฒนาวัยรุ่น

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังแฝงในตัวมากมายและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆในชีวิต สนใจสิ่งแวดล้อมและอยากมีประสบการณ์แปลกใหม่ที่ท้าทายความสามารถ สมควรส่งเสริมให้เรียนรู้ในสิ่งที่ดี เหมาะสม เพิ่มความสามารถในทุกๆด้านไปพร้อมกันมาตั้งแต่เล็ก

         พ่อแม่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นพัฒนาในด้านการเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ความเป็นจริงพบว่าวัยรุ่นขาดการส่งเสริมในเรื่องการพัฒนาอารมณ์และสังคม ขาดประสบการณ์ชีวิตอย่างมาก จนทำให้การควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก ผ่อนคลายไม่เป็น ปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆได้น้อย กลัว ไม่กล้าแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น รับผิดชอบตนเองได้ลำบากติดการพึ่งพาผู้ใหญ่ มองเหตุการณ์ต่างๆในมุมแคบ ไม่รอบคอบ

         แต่การที่จะทำให้วัยรุ่นสนใจในกิจกรรมที่พ่อแม่สรรหามาให้นั้น เพื่อที่จะพัฒนาเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปในทางที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อตัววัยรุ่นเองนั้นจะทำอย่างไร

หลักการในการส่งเสริมพัฒนาวัยรุ่น

         1. เข้าใจวัยรุ่น วัยนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พึ่งผู้ใหญ่น้อยลง ติดเพื่อน ฟังความเห็นของเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ถ้าจะอยากให้ลูกเข้ากิจกรรมอะไรก็ต้องขยายโอกาสให้เพื่อนๆเขาด้วย เรียกว่าเรียนรู้กันทั้งกลุ่มไปเลย การกระตุ้นให้วัยนี้สนใจ อยากรู้อยากเห็น ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมและอยากลองทำในสิ่งที่ดีๆนั้นทำได้ไม่ยากแต่พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย การร่วมคิด ร่วมวางแผน คิดหลายๆด้านทั้งด้านการเงิน การเดินทาง การเตรียมตัว จะช่วยให้วัยรุ่นมองได้รอบด้านขึ้น ยิ่งทำหรือมีประสบการณ์หลากหลายจะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจตนเอง รู้ว่าตนเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดทางไหน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง

         2. มองให้รอบด้าน เพราะชีวิตมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองหลายด้าน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ ภาษา ทักษะการพูด การเข้าสังคม การเดินทาง การผจญภัย การช่วยเหลือผู้อื่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำกับข้าว ทำขนม ซ่อมสิ่งของ ใช้คอมพิวเตอร์ การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ การควบคุมอารมณ์ การผ่อนคลายตนเอง เป็นต้น อย่าส่งเสริมแต่การเรียนโดยให้เรียนพิเศษมากๆเพราะจะทำให้วัยรุ่นขาดประสบการณ์ในด้านอื่นไปอย่างน่าเสียดาย

         3. กิจกรรมหลากหลาย ที่เหมาะสม ท้าทาย สนุก เช่น การเข้าค่ายผจญภัย ค่ายนักกีฬามือใหม่ ค่าย YMCA YPDC ฝึกร้องเพลง วาดรูป ว่ายน้ำ เล่นสกี เรียนเทนนิส ทำขนม เย็บผ้า เต้นรำ รำละคร เป็นต้น สลับไปมาเพื่อไม่ให้เบื่อ ความสนุกหรือมีเรื่องท้าทาย คาดเดาไม่ได้ล่วงหน้าจะเป็นหัวใจในการจัดกิจกรรมที่ดึงความสนใจวัยรุ่นได้นาน

         4. ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านไปพร้อมกัน วัยรุ่นแต่ละคนมีจุดเด่น ความชอบ ความถนัดแตกต่างกัน แต่ก็ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาด้านอื่นอีก ดังนั้นการเลือกกิจกรรมเฉพาะจนเกิดการเรียนรู้ด้านเดียว เช่น การเรียนพิเศษ การเรียนเปียโน คอมพิวเตอร์ ฝึกพูดภาษา ทำกับข้าว ว่ายน้ำ จะฝึกได้สั้นๆ เช่น 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แต่สม่ำเสมอจะช่วยให้เกิดความสามารถเกิดขึ้นในระยะยาวได้ แต่จะได้เพื่อนหรือต้องปรับตัวเข้ากับคนอื่นน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าค่ายฤดูร้อนระยะยาว ที่เน้นการอยู่รวมกับคนอื่น ช่วยตัวเอง ต้องตัดสินใจ ได้ตื่นเต้นผจญภัย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะช่วยพัฒนาทักษะในด้านอารมณ์ การปรับตัวและการเข้าสังคมได้จริงจัง

         5. ให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง การพูดคุยวางแผน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการให้วัยรุ่นเรียนรู้ถึงการค้นหาข้อมูลซึ่งพ่อแม่อาจช่วยค้นหาในบางส่วน แต่เขาต้องหัดวางแผน ติดต่อ สอบถาม และนำมาปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพ่อแม่ คิดล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในด้านบวกและลบ วิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยงและหาสาเหตุของความเสี่ยง โอกาสอันตราย หาวิธีป้องกันความเสี่ยง การลดความเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ หรือการแก้ไขปัญหา ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น มีช่องทางออก ทางหนีทีไล่อย่างไร วิเคราะห์โอกาสต่างๆ ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก ก่อนที่จะให้ตัดสินใจด้วยตัวเองและไปสมัครเข้าร่วมกิจกรรม

         6. สนับสนุนและติดตามผล พ่อแม่มีบทบาทสูงมากในการส่งเสริมพัฒนาวัยรุ่นในทางที่เหมาะสม ถ้าไม่ไปติดกับการเร่งรัดในเรื่องการเรียนมากมาย ไม่ว่าวัยรุ่นจะเลือกตัดสินอะไรพ่อแม่ยังมีหน้าที่กระตุ้นให้เขาได้เรียนรู้ผลกระทบของการตัดสินใจหรือประสบการณ์นั้นๆให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าการตัดสินใจของวัยรุ่นอาจไม่ตรงกับใจของพ่อแม่ก็ตาม แต่การบังคับวัยรุ่นให้ทำตามที่พ่อแม่สั่งก็มักไม่สำเร็จ การจูงใจให้วัยรุ่นมองเห็นทาง สนใจและอยากทำอะไรด้วยตัวเองในทิศทางที่เหมาะสมจึงเป็นวิธีการที่ได้ผลเสมอมา

เทคนิคพ่อแม่ที่วัยรุ่นไม่ชอบ

          การที่จะใช้ชีวิตอยู่กับลูกวัยรุ่นได้อย่างมีความสุขทั้งสองฝ่ายนั้น จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้ไว้เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันปัญหาต่อไป สิ่งที่วัยรุ่นไม่ชอบวิธีการของผู้ใหญ่ คือ

         1. การบีบบังคับ ให้ทำงานตามที่พ่อแม่สั่ง โดยไม่เน้นให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือถามความสมัครใจ 
         2. ลงโทษรุนแรงไม่สมกับความผิด หรือตีด้วยความโกรธ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อแม่ลูกไปเลย หรือทำให้เกิดการเลียนแบบความก้าวร้าว และวัยรุ่นเองก็จะมองตัวเองไม่ดีเช่นกัน ยิ่งถ้าวัยรุ่นไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองทำผิด การลงโทษเช่นนี้จะทำให้เกิดการเก็บกดความไม่พอใจ ความโกรธและคิดที่จะแก้แค้นได้ 
         3. ไล่ออกจากบ้าน หรือตัดพ่อตัดลูกกัน ส่วนมากพ่อแม่พูดออกมาเพราะควบคุมความโกรธและผิดหวังไม่ได้ มิได้ตั้งใจจะไล่ออกจากบ้านจริงๆหรือจะไม่รับไว้เป็นลูก เพียงแต่ในช่วงนั้นไม่อยากเห็นหน้าลูก การพูดแค่หนเดียวแต่ผลกระทบที่เกิดกับวัยรุ่นมีมหาศาล เพราะวัยรุ่นจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่มีต่อกันสิ้นสุดเกินกว่าที่จะแก้ไขแล้ว รู้สึกไม่เป็นที่ต้อนรับ ไม่ใช้ส่วนหนึ่งของบ้านอีกต่อไป ไม่มีความเป็นมิตร ไม่มีใครรัก และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เมื่อมีปัญหากับพ่อแม่ใหม่ในเวลาต่อมา ความทรงจำที่รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการ ก็จะกลับมาซ้ำเติมได้อีก 
         4. ประจานให้อับอาย เป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ กลัวคนอื่นไม่ยอมรับ 
         5. ประชดประชัน เป็นการระบายความโกรธของผู้ใหญ่ที่หลายคนนิยมใช้ อาจทำให้คนฟังรู้สึกผิดอับอายเพิ่มขึ้น หรืออาจไปกระตุ้นความโกรธและไปเพิ่มการต่อต้านของวัยรุ่นได้ หรือ ลำเลิกบุญคุณ จู้จี้ ขี้บ่น ด่าว่าเป็นคนไม่ดี เลว ไม่สมควรเกิดมาเป็นพ่อแม่ลูกกัน 
         6. ไม่ฟังเหตุผล ไม่ฟังเรื่องราวให้จบ ห้ามเถียง หรือทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ 
         7. ทำยังกับเป็นเด็กเล็กๆ คอยทำทุกอย่างให้ คิดแทน ตัดสินใจแทน วุ่นวาย ก้าวก่ายกับเรื่องส่วนตัวมากเกินไป จนรำคาญ 
         8. ไม่ต้อนรับ ไม่ใส่ใจ รังเกียจเพื่อนของเขา หรือบังคับให้เลิกคบเพื่อน 
         9. เฉยเมย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไม่แสดงความเป็นห่วง มองแง่ร้ายเสมอ 
        10. ทำตัวขึ้นๆลงๆ กฎเกณฑ์ไม่แน่นอน

 

ที่มา : https://www.rcpsycht.org/cap/book04_7.php